แหล่งเรียนรู้
อุทยานการเรียนรู้
อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี
ความเป็นมา
อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) และเทศบาลเมืองปัตตานี เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และปลูกฝังการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีเติมเต็มทุกๆ จินตนาการเพื่อให้เยาวชนและประชาชนชาว ปัตตานีทุกเพศทุกวัยเข้ามาใช้บริการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข พร้อมเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ในอุทยานการเรียนรู้แห่งนี้กลับไปอย่างภาคภูมิใจ
ข้อมูลพื้นฐาน
- เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ : วันที่ 19 มกราคม 2560
- ขนาดพื้นที่ : 6,476 ตารางเมตร
- ที่อยู่ : ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000
- เวลาทำการ : วันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 19.00 น. ปิดให้บริการวันจันทร์
แหล่งเรียนรู้ : สถานที่ท่องเที่ยว
วัดช้างให้
วัดช้างให้ ตั้งอยู่ที่อำเภอโคกโพธิ์ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีโดยใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า 300 ปี วัดช้างให้ ถือว่าเป็นวัดต้นตำรับของหลวงปู่ทวด เพราะท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดและอัฐของท่านก็ถูกบรรจุไว้ที่วัดแห่งนี้ วัดช้างให้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อและเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามากราบสักการะหลวงปู่ทวดอย่างไม่ขาดสาย ที่เรียกว่าเมื่อมาถึงปัตตานีดินแดนแห่งปลายด้ามขวานแล้วต้องแวะมาให้ได้
มัสยิดกลางปัตตานี
มัสยิดกลางปัตตานี ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีความโดดเด่น และยังเป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง รูปทรงภายนอกของมัสยิดมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล เป็นสถานที่เมื่อมาถึงปัตตานีต้องมาชมศิลปะ และความสวยงามของตัวอาคาร มัสยิดแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย
มัสยิดกรือแซะ
มัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองปัตตานี สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน ชื่อนี้เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบโกธิคของยุโรป และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง รูปลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เสาทรงกลมเลียนรูปลักษณะเสา ช่องประตู หน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และโค้งมนแบบโกธิค โดมและหลังคายังก่อสร้างไม่เสร็จ อิฐที่ใช้ก่อมีรูปลักษณะเป็นอิฐสมัยอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดี
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ความศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองปัตตานีมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ในตัวเมืองปัตตานี เป็นที่ประดิษฐานองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์รวมศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี ในต่างจังหวัดและในต่างประเทศ ศาลเจ้าแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียงหรือชื่อที่ชาวบ้านเรียก “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตามตำนานเล่าว่าลิ้มกอเหนี่ยวเป็นสาวชาวจีนจากเมืองฮกเกี้ยน ซึ่งเกิดในช่วงสี่ถึงห้าร้อยปีมาแล้ว นางเดินทางลงเรือสำเภามายังเมืองปัตตานี เพื่อตามพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมให้กลับไปหามารดาที่ชราภาพที่บ้านเกิด
ชุมชนเก่าปัตตานี
ย่านเมืองเก่าปัตตานี ซึ่งงดงามด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลายแบบหลากสไตล์ ให้ได้เดินทอดน่อง ผ่อนคลายอารมณ์ชมเมืองเก่าที่สวยงามแปลกตาอีกด้วย มาเห็นครั้งแรกต้องบอกว่าอึ้ง เพราะไม่ทราบมาก่อนว่าปัตตานีจะมีมุมแบบนี้ให้ได้สัมผัสด้วย เมืองเก่าปัตตานี ตั้งอยู่บนถนนอาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤาดี และเชื่อมโยงกับถนนนาเกลือ บริเวณนี้ คือ ถนนอาเนาะรู ซึ่งมี บรรยากาศคล้ายกับย่านเก่าสงขลา
สกายวอลค์ปัตตานี
สกายวอล์ค ปัตตานี ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง ภายในพื้นที่ของสวนสมเด็จสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือ สวนแม่ ลูก สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของชาวปัตตานี โดยบริเวณทางเข้าสวน ได้จัดทำเป็นเส้นทางเดินลอยฟ้าเหนือป่าชายเลนที่มีความสูง 12 เมตร ประมาณตึก 5 ชั้น สกายวอล์ค แห่งนี้สามารถชมวิวทิวทัศน์แบบพาโนรามา ชมเมืองปัตตานี วิถีชีวิตชาวประมง รวมถึงชมความงดงามของพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกอีกด้วย สะพานแห่งนี้มีความยาว 400 เมตร ทอดยาวเหนือป่านชายเลน ลักษณะเป็นสะพานโครงสร้างเหล็ก พื้นทางเดินเป็นเหล็กตาข่ายที่รองรับน้ำหนักได้มาก มีบันไดขึ้น-ลง 2 จุด มีจุดพัก 5 จุด ในเส้นทาง
วังยะหริ่ง
วังยะหริ่ง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรือนไม้กึ่งปูน สร้างขึ้นแบบสไตล์ยุโรป ผสมผสานศิลปกรรมพื้นเมือง และชวา ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองยะหริ่งในปัจจุบัน นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวยะหริ่งยิ่งนัก เพราะสถาปัตยกรรมทรงคลาสสิคหลังนี้ ได้ทำหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนจากต่างแดนอยู่เป็นกิจวัตร ปัจจุบันนี้วังยะหริ่งยังมีให้เห็นถึงความสมบูรณ์ แม้จะมีอายุการสร้างวังของเจ้าเมืองยะหริ่งมานานถึง 100 กว่าปี แต่วัตถุและหลักฐานของเรื่องราวตั้งแต่ยุคคุณทวดทุกอย่างยังถูกรวบรวมและจัดวางไว้เหมือนกับในอดีตทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้ผู้คนที่นี่ยังรู้สึกว่าวังยะหริ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้เวลาจะเปลี่ยนผ่านไปนานสักแค่ไหนก็ตาม
ชมเรือกอและ หาดตะโละกาโปร์
หาดตะโละกาโปร์ ชมเรือกอและ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของปัตตานี ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตามหาด หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เหมาะแก่การไปนั่งพักผ่อนชมความสวยงาม มีทิวสนและต้นมะพร้าวให้ความร่มรื่นสวยงามและมีเรือกอและของชาวประมงจอดอยู่เป็นจำนวนมาก